Zhukov, Georgi Konstantinovich (1896–1974)

จอมพลเกออร์กี คอนสตันติโนวิช จูคอฟ (พ.ศ. ๒๔๓๙–๒๕๑๗)

 เกออร์กี คอนสตันติโนวิช จูคอฟเป็นจอมพลแห่งสหภาพโซเวียต หัวหน้าคณะเสนาธิการทหาร และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อจากโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด จูคอฟถูกเกณฑ์เป็นทหารใน ค.ศ. ๑๙๑๕ และปฏิบัติหน้าที่ในการรบอย่างกล้าหาญในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* จนได้รับเหรียญกล้าหาญเซนต์จอร์จ (Cross of St. George) ต่อมาเมื่อรัสเซียเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ จูคอฟสนับสนุนรัฐบาลบอลเชวิค (Bolsheviks)* ซึ่งมีวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* เป็นผู้นำ และใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ได้เข้าร่วมกับกองทัพแดง (Red Army)* หลังสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑)* สิ้นสุดลงจูคอฟได้รับอิสริยาภรณ์ธงแดง (Order of the Red Banner) ในการปราบปรามฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติที่เมืองตัมบอฟ (Tambov) ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒–๑๙๓๘ จูคอฟก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในอาชีพทหารและใน ค.ศ. ๑๙๓๘ก็สร้างชื่อเสียงให้ตนเองอย่างมากในการทำสงครามกับญี่ปุ่นซึ่งยึดครองแมนจูกัว (Manchukuo) เขานำรถถังมาใช้ในการบุกโจมตีจนมีชัยชนะและได้รับยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียต (Hero of the Soviet Union) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สตาลินแต่งตั้งจูคอฟเป็นหัวหน้าคณะเสนาธิการทหารและเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อป้องกันกรุงมอสโก และต่อต้านการบุกโจมตีของเยอรมนีในยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ รวมทั้งยุทธการที่เมืองคุรสค์ (Battle of Kursk)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๓

 จูคอฟเกิดในครอบครัวชาวนาที่ยากจน เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๖ ณ หมู่บ้านสเตรลคอฟกา (Strelkovka) จังหวัดคากูลา (Kagula) ซึ่งห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๕๐ กิโลเมตรบิดาเป็นช่างซ่อมรองเท้าและมารดาเป็นชาวนารับจ้างทั้ง ๒ คนต่างเป็นม่ายมาก่อนที่จะแต่งงานกันใน ค.ศ. ๑๘๙๒ ขณะที่ฝ่ายชายอายุ ๕๐ ปี และฝ่ายหญิง ๓๕ ปีจูคอฟในเวลาต่อมาเล่าว่าในวัยเด็กเขาเห็นว่าพ่อกับแม่เป็นคนแก่ที่น่ากลัวจูคอฟมีพี่สาว ๑ คนซึ่งอายุมากกว่าเขา ๒ ปี เมื่อเขาอายุ ๕ ขวบ มารดาให้กำเนิดบุตรชายอีกคนหนึ่ง แต่น้องชายเขาล้มป่วยและเสียชีวิตไปก่อนที่อายุจะครบ ๑ ขวบ บิดาซึ่งเป็นคนเคร่งศาสนาไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวมากนักเพราะไปหางานทำที่กรุงมอสโก มารดาจึงรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตรทั้ง ๒ คนตามลำพัง ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ จูคอฟขณะอายุ ๗ ขวบได้เข้าเรียนในระดับต้นที่โรงเรียนท้องถิ่นจนสำเร็จการศึกษาในเวลา ๓ ปี แม้ความยากจนจะปิดโอกาสไม่ให้เขาได้เรียนต่อในระดับสูง แต่จูคอฟก็กระหายความรู้และในเวลาต่อมาเขามักหาเวลาศึกษาด้วยตนเองตามโอกาสและเงื่อนไขที่จะเอื้ออำนวย จูคอฟเป็นคนดื้อเงียบ หนักเอาเบาสู้ แข็งแรง และไม่ชอบยุ่งกับใคร

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ ขณะอายุได้ ๑๒ ปี ครอบครัวส่งเขาไปฝึกงานเป็นคนตัดขนสัตว์กับน้าชายที่กรุงมอสโกซึ่งมีร้านเล็กๆอยู่ไม่ไกลจากจัตุรัสแดงเขาฝึกงานอย่างหนักวันละ ๑๒ ชั่วโมง และทำงานได้ดี และมักหาเวลาไปเรียนโรงเรียนกลางคืนขณะเดียวกันเขาก็เรียนหนังสือกับบุตรของน้าชายโดยเรียนภาษารัสเซีย ภูมิศาสตร์คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทั่วไป รวมทั้งภาษาเยอรมันน้าชายส่งบุตรชายไปเรียนภาษาเยอรมันที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) เพื่อให้นำความรู้มาช่วยธุรกิจที่บ้านเมื่อมีโอกาสกลับรัสเซียช่วงปิดเทอม เขาจะสอนภาษาเยอรมันให้จูคอฟและแนะนำให้อ่านหนังสือเรื่องต่าง ๆ จูคอฟชอบอ่านหนังสือมากและในเวลาต่อมากลายเป็นนักอ่านและนักสะสมหนังสือนานาประเภทเอลลา (Ella) บุตรสาวจูคอฟในเวลาต่อมาเล่าว่าการอ่านหนังสือคืองานอดิเรกของบิดา และเขาสะสมหนังสือจนห้องสมุดส่วนตัวมีหนังสือกว่า ๒๐,๐๐๐ เล่ม หลังอสัญกรรมของจูคอฟ หนังสือเหล่านี้ได้เป็นสมบัติของรัฐและบางส่วนไปอยู่ในหอจดหมายเหตุ

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๔หลังจากจูคอฟจบการฝึกงานและมีอาชีพประจำแล้ว เขามีเด็กฝึกงานในความดูแลรวม ๓ คนเขามีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายมากขึ้นทั้งยังสลัดทิ้งคราบชาวนาที่ยากจนมาเป็นหนุ่มชาวเมืองที่มีความเชื่อมั่นตนเองและในอนาคตเบื้องหน้า อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่สืบเนื่องจากการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* ที่เป็นชนวนนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้ชีวิตของจูคอฟพลิกผัน ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๑๕ เขาถูกเกณฑ์เป็นทหารและเข้าสังกัดกรมทหารม้าสำรองที่ ๕ (5ᵗʰ Reserve Cavalry Regiment) ระยะหนึ่งและในต้น ค.ศ. ๑๙๑๖ ไปเข้าสังกัดกรมทหารม้าสำรองที่ ๑๐๖ (106ᵗʰ Reserve Cavalry Regiment) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ เขาไปปฏิบัติการรบในแคว้นมอลโดวา (Moldova) ซึ่งทำให้เขาได้รับเหรียญกล้าหาญเซนต์จอร์จเหรียญแรกจากการจับกุมผู้บัญชาการกองทัพเยอรมันได้ ต่อมาในเดือนตุลาคมเขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากสะเก็ดระเบิดในการรบที่เมืองคาร์คอฟ (Kharkov) ในยูเครนซึ่งทำให้เขาได้เหรียญกล้าหาญเซนต์จอร์จเหรียญที่ ๒ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๖ จูคอฟซึ่งยังไม่หายบาดเจ็บดีถูกย้ายไปทำงานในสำนักงานประจำกรมทหารม้าสำรองที่ ๕

 เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในกรุงเปโตรกราด เพื่อต่อต้านสงครามและรัฐบาลที่ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้และทรงถูกกดดันให้สละราชบัลลังก์ ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ที่ปกครองรัสเซียมากว่า ๓๐๐ ปี หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์รัสเซียปกครองในระบบทวิอำนาจระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลกับสภาโซเวียต ต่อมาในเดือนเมษายนเยอรมนีสนับสนุนให้เลนินผู้นำพรรคบอลเชวิคที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศเดินทางกลับเข้ารัสเซียพร้อมกับสหายอีก ๑๙ คน เลนินเรียกร้องให้โค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* เป็นผู้นำและปลุกระดมประชาชนให้ลุกฮือขึ้นเพื่อยึดอำนาจทางการเมือง จูคอฟซึ่งไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อนเริ่มติดตามสถานการณ์ทางการเมืองและได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนคนหนึ่งของคณะกรรมาธิการทหารและกะลาสีแห่งสภาโซเวียตท้องถิ่น เขาสนับสนุนพรรคบอลเชวิค อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมีส่วนทำให้กรมทหารม้าที่เขาสังกัดถูกยุบจูคอฟถูกปลดประจำการและกลับไปอยู่ที่หมู่บ้านเกิดเพื่อรอดูสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ จูคอฟไม่ได้เข้าร่วมในการปฏิวัติครั้งนี้ เพราะเขาล้มป่วยด้วยไข้รากสาดใหญ่และต้องรักษาตัวเป็นเวลาเกือบ ๖ เดือน

 หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคมรัสเซียเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์และเรียกชื่อประเทศใหม่ว่าสหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซีย (Russian Socialist Federative Soviet Republic–RSFSR)* ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ รัสเซียถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยยอมลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* กับเยอรมนี การถอนตัวออกจากสงครามของรัสเซียทำให้ประเทศสัมพันธมิตรตะวันตกหันมาสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลโซเวียตหรือกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาว (White Russia) และนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองรัสเซีย เลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามและนาวี (People’s Commissar of War and Navy) จึงปรับปรุงกองทัพแดงให้เข้มแข็งและเริ่มระดมพล ทั้งเรียกร้องให้นายทหารจากกองทัพรัสเซียเดิมเข้าร่วมในกองทัพแดงโดยมีสถานภาพเป็น “ผู้เชี่ยวชาญทางทหาร” เพื่อฝึกอบรมทหารเกณฑ์ที่เป็นกรรมกรและชาวนา จูคอฟซึ่งต้องการเป็นทหารจึงสมัครเข้าร่วมในกองทัพแดงในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ที่แถบยูรัลตอนใต้ โดยสังกัดหน่วยทหารม้ามอสโกที่ ๑ หน่วยของเขาถูกส่งไปรบที่แถบยูรัลตอนใต้กับกองทัพรัสเซียขาวซึ่งมีพลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์ คอลชาค (Alexander Kolchak)* เป็นผู้บังคับบัญชา กองทัพแดงสามารถต้านการรุกของฝ่ายรัสเซียขาวได้ และใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เคลื่อนกำลังไปหนุนช่วยการรบในยุทธการที่เมืองซาริตซิน (Battle of Tsaritsyn)* ทางรัสเซียตอนใต้ในการปกป้องเมืองซาริตซิน [ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสตาลินกราด (Stalingrad)] จูคอฟมีโอกาสพบและรู้จักกับสตาลิน รัฐมนตรีว่าการกิจการประชาชาติ (Commissar of Nationalities Affair) ซึ่งกำลังบัญชาการรบป้องกันเมืองซาริตซิน สตาลินประทับใจความมุ่งมั่นและกล้าหาญของจูคอฟและสนับสนุนเขาให้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยมิตรภาพระหว่างคนทั้งสองเปิดโอกาสให้จูคอฟเป็นสหายคนหนึ่งในกลุ่มวงในของสตาลินในเวลาต่อมา

 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ จูคอฟในวัย ๒๓ ปี ถูกสะเก็ดระเบิดบาดเจ็บสาหัสและถูกส่งไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลทหารในเมืองซาราตอฟ (Saratov) จูคอฟซึ่งมีหน้าตาคมสัน สูงปานกลาง และบึกบึน ได้พบกับมาเรีย โวลโควา (Maria Volkhova) นักเรียนวัยแรกรุ่นทั้งคู่เป็นเงาของกันและกันเป็นเวลากว่าเดือน ความสัมพันธ์อันแนบแน่นสิ้นสุดลงเมื่อมาเรียกลับไปบ้านเกิดที่เมืองโปลตาวา (Poltava) และจูคอฟถูกส่งกลับไปหมู่บ้านเกิดเพื่อพักฟื้นอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การพลัดพรากครั้งนี้เป็นช่วงเวลาเพียงชั่วคราว เพราะอีก ๓ ปีต่อมาทั้งสองได้พบกันอีกครั้งหนึ่งและได้สานต่อสายใยรักของกันและกัน ในช่วงที่พรากจากกันนั้นจูคอฟมีรักใหม่กับอะเล็กซานดรา ดีฟนา (Alexandra Dievna) ครูโรงเรียนในหมู่บ้านและแต่งงานกับเธอซึ่งต่อมามีบุตรสาว๒คนส่วนมาเรียก็มีบุตรสาวนอกสมรสกับจูคอฟ ๑ คน ชื่อมาร์การีตา (Margarita)

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๐ จูคอฟกลับไปประจำการในแนวรบอีกครั้ง แต่เนื่องจากยังไม่หายดี เขาจึงถูกส่งไปสังกัดหน่วยทหารม้าสำรองที่ ๓ และในเดือนมีนาคมปีเดียวกันถูกส่งไปอบรมวิชาการทหารที่เมืองรีซาน (Ryazan) ซึ่งห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร เขาได้คะแนนดีเยี่ยมทุกวิชาและสำเร็จการศึกษาหลักสูตรพิเศษว่าด้วยยุทธศาสตร์ทหารม้า ด้วยภูมิหลังของการเป็นทหารในกองทัพซาร์และผลการเรียนดีเด่นทำให้เขาได้กลายเป็นครูฝึกในกองทัพแดงระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ เขาถูกส่งไปร่วมรบกับกองพลน้อยปืนเล็กยาวมอสโกที่ ๒ (2ᶰᵈ Moscow Rifle Brigade) ในคอเคซัส (Caucasus) ตอนเหนือเพื่อสกัดกั้นกองทัพของนายพลปิออตร์ นีโคลาเยวิช รันเกล (Pyotr Nikolayevich Wrangel)* ที่ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากฝรั่งเศส และมีฐานกำลังอยู่ที่ไครเมีย จากนั้นเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพและไปประจำการที่จังหวัดโวโรเนจ (Voronezh) เพื่อปราบปรามการลุกฮือก่อกบฏของชาวนาที่ต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (War Communism)* ในเหตุการณ์ที่เรียกกันทั่วไปว่า “การลุกฮือที่เมืองตัมบอฟ (Tambov Revolt) ทหารใต้บัญชาการของเขาต่อสู้เผชิญหน้ากับชาวนาตัวต่อตัวและฆ่าฝ่ายกบฏกว่า ๒,๐๐๐ คน ปฏิบัติการรบที่ห้าวหาญและมีชัยชนะครั้งนี้ทำให้จูคอฟได้รับอิสริยาภรณ์ธงแดง

 หลังสงครามกลางเมืองรัสเซียยุติลง รัฐบาลโซเวียตยกเลิกนโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงครามและใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy–NEP)* เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมทั้งเริ่มปรับปรุงกองทัพแดงให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ มีการปลดทหารประจำการราว ๕ ล้านนายให้เหลือเพียง ๕๐,๐๐๐ นาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จูคอฟสมัครใจที่จะเป็นทหารต่อไป ระหว่างกลางทศวรรษ ๑๙๒๐ ถึงต้นทศวรรษ ๑๙๓๐ เขาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในอาชีพทหารและถูกส่งไปศึกษาอบรมระดับสูงที่โรงเรียนทหารม้าระดับสูงแห่งเลนินกราด (Leningrad Higher Calvary School) รวมทั้งไปเรียนหลักสูตรเสนาธิการระดับสูงที่สถาบันทหารฟรุนเซ (Frunze Military Academy) ที่กรุงมอสโกใน ค.ศ. ๑๙๓๑ แม้จะฝึกอบรมอย่างหนักแต่จูคอฟก็ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองโดยกำหนดตารางเวลาเรียนกลางคืนอ่านหนังสือทฤษฎีการเมืองลัทธิมากซ์-เลนิน (Marxism Leninism) ซึ่งรวมทั้งหนังสือเรื่องทุน (Das Kapital)* ของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* และงานนิพนธ์ต่าง ๆ ของเลนิน ในช่วงฝึกอบรมที่มอสโก จูคอฟได้รู้จักและเป็นสหายสนิทกับทหารหนุ่มรุ่นใหม่ในวัยเดียวกันหลายคน เช่น คอนสตันติน โรคอสซอฟสกี (Konstantin Rokossovsky)* อะเล็กซานเดอร์โคเนฟ (Alexander Konev) ซึ่งในเวลาต่อมาสหายเหล่านี้เป็นจอมพลในกองทัพแดงและมีส่วนสนับสนุนและช่วยเหลือเขาให้ก้าวหน้าในงานอาชีพ ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทหารม้าที่ ๓ (3ʳᵈ Cavalry Corps) และในปีต่อมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารม้าประจำการในเขตทหารแห่งเบโลรัสเซียโดยมีหน้าที่รับผิดชอบการฝึกอบรมหน่วยทหารม้าและกองพลรถถัง

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๔ เซียร์เกย์ มีโรโนวิช คีรอฟ (Sergey Mironovich Kirov)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลนินกราดซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของสตาลินถูกสังหารอย่างมีเงื่อนงำ สตาลินจึงใช้เหตุการณ์ลอบสังหารคีรอฟเป็นข้ออ้างจับกุมและกำจัดศัตรูทางการเมืองทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนรวมทั้งสมาชิกพรรค นิโคไล เยจอฟ (Nikolai Yezhov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการกวาดล้างและจับ “ศัตรูภายใน” (enemy within) อย่างไม่ลดละจนนำไปสู่การกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๘ หรือที่เรียกว่าสมัยเยจอฟ (Yezhovshchina) ประมาณว่าจำนวนประชาชนทหารและสมาชิกพรรคที่ถูกสังหารมีกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน การกวาดล้างครั้งใหญ่ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในประเทศตะวันตกว่า ความน่าสะพรึงกลัวครั้งใหญ่ (Great Terror) จูคอฟถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับนายทหารระดับสูงที่ต้องการโค่นอำนาจสตาลินและถูกนำตัวไปไต่สวน แต่นายพลเซมิออน บูดิออนนี (Semyon Budyonny) อดีตผู้บังคับบัญชาของจูคอฟและเป็นคนโปรดของสตาลินพยายามช่วยเหลือและปกป้องเขา ทั้งจูคอฟเองก็เขียนจดหมายถึงสตาลินปฏิเสธข้อหาต่าง ๆ และยอมรับว่าเขายุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วยความโง่เขลา ในท้ายที่สุดจูคอฟรอดชีวิตและถูกทัณฑ์บน ทั้งได้รับการปล่อยตัว

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ กองทัพโซเวียตในตะวันออกไกลเริ่มปะทะกับกองทัพญี่ปุ่นประปรายบริเวณพรมแดนระหว่างมองโกเลียกับแมนจูกัว สหภาพโซเวียตซึ่งค้ำประกันเอกราชของมองโกเลียขัดขวางไม่ให้ญี่ปุ่นรุกข้ามพรมแดนเพื่อผนวกมองโกเลีย การปะทะกันรุนแรงเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ โดยกองทัพญี่ปุ่นพยายามบุกข้ามพรมแดนบริเวณทะเลสาบคาซาน (Khasan) ระหว่างเกาหลี แมนจูเรีย และสหภาพโซเวียต แต่ล้มเหลว หลังการปะทะกันครั้งนี้สหภาพโซเวียตยุบกองทัพตะวันออกไกล (FarEastern Army) และจัดตั้งกองพลน้อยพิเศษที่ ๕๗ (57ᵗʰ Special Corps) ขึ้นเพื่อป้องกันการรุกล้ำพรมแดนของญี่ปุ่น ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๙ จูคอฟได้รับคำสั่งให้ไปบัญชาการกองพลน้อยพิเศษที่ ๕๗แทนนายพลบลูย์เคียร์ (Blyukher) ที่ตกเป็นเหยื่อของการกวาดล้างทางการเมือง เขาปรับปรุงกองทัพให้เข้มแข็งและสร้างหน่วยข่าวกรอง รวมทั้งเสริมหน่วยรถถังและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เมื่อญี่ปุ่นพยายามขับไล่กองกำลังโซเวียตที่ประจำการบริเวณแม่น้ำคัลคิน-โกล (Khalkhin-Gol) ทางตะวันออกและจัดตั้งกองกำลังของตนบริเวณหัวหาดทางด้านตะวันตกเกิดการปะทะกันขึ้นและนำไปสู่ยุทธการที่แม่น้ำคัลคิน-โกล (Battle of Khalkhin-Gol) ระหว่างวันที่ ๒๐–๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ สหภาพโซเวียตใช้รถถังบดขยี้ศัตรูจนเป็นฝ่ายชนะโดยสูญเสียทหารเพียง ๑๘,๕๐๐ นาย ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตและบาดเจ็บประมาณ ๖๐,๐๐๐ นาย [ความพ่ายแพ้ครั้งนี้มีส่วนทำให้ในเวลาต่อมาญี่ปุ่นไม่กล้าเข้าแทรกแซงดินแดนของสหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ซึ่งในขณะนั้นเยอรมนีกำลังเป็นฝ่ายมีชัยชนะ คาดกันว่าหากญี่ปุ่นเข้าสนับสนุนกองทัพเยอรมันบุกสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๔๑ สหภาพโซเวียตอาจเป็นฝ่ายปราชัยในยุทธการที่กรุงมอสโก (Battle of Moscow ๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๑–๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒)*] ชัยชนะของจูคอฟในยุทธการที่แม่น้ำคัลคิน-โกล ทำให้เขาได้เลื่อนยศเป็นนายพลและมีฉายาว่า แม่ทัพเหี้ยมที่บดขยี้ญี่ปุ่น ทั้งได้รับอิสริยาภรณ์ดาวทอง (Gold Star) เป็นวีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียต

 เมื่อเยอรมนีใช้ยุทธวิธีทำสงครามสายฟ้าแลบ (Lightning War)* บุกโปแลนด์และในเวลาอันรวดเร็วก็ยึดครองพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือได้เกือบหมดและรุกคืบหน้าจนใกล้จะถึงเส้นพรมแดนโปล-โซเวียต สหภาพโซเวียตซึ่งเกรงว่าเยอรมนีอาจยึดครองโปแลนด์ได้ทั้งหมดจึงเข้าโจมตีโปแลนด์ทางภาคตะวันออกซึ่งถือเป็นเขตอิทธิพลของโซเวียตตามข้อตกลงในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact ค.ศ. ๑๙๓๙)* โปแลนด์จึงพ่ายแพ้ในเวลาเพียง ๔ สัปดาห์ เยอรมนีกับสหภาพโซเวียตจึงแบ่งกันปกครองโปแลนด์อย่างไรก็ตามสหภาพโซเวียตก็วิตกว่าเยอรมนีอาจบุกโจมตีกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (Scandinavia)* และแนวพรมแดนตอนเหนือของโซเวียตที่ติดกับฟินแลนด์อาจไม่ปลอดภัยจากการโจมตีของเยอรมนี สหภาพโซเวียตจึงบุกฟินแลนด์โดยไม่แจ้งเตือนล่วงหน้าและนำไปสู่การเกิดสงครามรัสเซีย-ฟินแลนด์ (Russo-Finnish War)* หรือสงครามฤดูหนาว (Winter War)* ค.ศ. ๑๙๓๙–๑๙๔๐ แม้ฟินแลนด์จะต้านการบุกอย่างเหนียวแน่นจนทำให้การบุกของโซเวียตชะงักลงและสูญเสียทหารเป็นจำนวนมาก แต่ในกลางเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ฟินแลนด์ก็ยอมแพ้

 สงครามรัสเซีย-ฟินแลนด์ทำให้สหภาพโซเวียตเริ่มตระหนักว่ากองทัพโซเวียตยังไม่แข็งแกร่งพอสตาลินจึงแต่งตั้งให้จูคอฟเป็นหัวหน้าคณะเสนาธิการทหารกองทัพโซเวียตและดำรงตำแหน่งนายพลแห่งกองทัพ (General of the Army) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เพื่อให้ปฏิรูปกองทัพอย่างเร่งด่วน และให้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การรบจูคอฟยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการเขตทหารพิเศษแห่งเคียฟ (Kiev Special Military District) บริเวณพรมแดนตะวันตกในกลางเดือนพฤษภาคมด้วย เขตทหารพิเศษดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ในการป้องกันการบุกโจมตีจากศัตรูภายนอกมี ๓ แห่ง คือ ที่เคียฟ และในพื้นที่ยุโรปรัสเซียอีก ๒ แห่ง โดยมีศูนย์บัญชาการที่กรุงมินสค์ (Minsk) และกรุงรีกา (Riga) ในบอลติก ในเดือนมิถุนายนค.ศ. ๑๙๔๐จูคอฟก็สร้างผลงานด้วยการผนวกเบสซาราเบีย (Bessarabia)* และนอร์ทบูโควินา (North Bukovina) ของโรมาเนียเข้ารวมกับสหภาพโซเวียต ขณะเดียวกันเขาเริ่มปรับปรุงระเบียบวินัยในกองทัพและสร้างเสริมกำลังอาวุธ

 เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีซึ่งต้องการกอบกู้ชื่อเสียงของกองทัพเยอรมันที่ล้มเหลวในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain ค.ศ. ๑๙๔๐)* ตัดสินใจบุกโจมตีสหภาพโซเวียตด้วยแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation of Barbarossa)* ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ การบุกโจมตีด้วยยุทธวิธีสงครามสายฟ้าแลบทำให้เยอรมนีเป็นฝ่ายได้เปรียบและรุกคืบหน้าเข้าสู่กรุงมอสโกอย่างรวดเร็วตามเส้นทางที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* เคยใช้ในการบุกรัสเซียระหว่างสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* โดยผ่านเมืองสโมเลนสค์ (Smolensk) ขณะเดียวกันเยอรมนีได้กระจายกองกำลังออกเป็นกองทัพกลุ่มเหนือเพื่อมุ่งสู่นครเลนินกราดบนฝั่งน้ำวอลกา (Volga) เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงสัมภาระของรัสเซียจากโลกภายนอกผ่านทะเลแคสเปียนและอิหร่าน และกองทัพกลุ่มใต้เคลื่อนกำลังจากโรมาเนียเข้ายึดยูเครน (Ukraine)* และคาบสมุทรไครเมียเพื่อเปิดทางไปสู่คอเคซัส สตาลินมีคำสั่งให้จูคอฟมาพบเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามและให้จูคอฟรับผิดชอบในการป้องกันกรุงมอสโกและให้อันเดรย์ จดานอฟ (Andrei Zhadanov)* เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตแห่งเลนินกราดควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยภายในนครเลนินกราดและประสานงานด้านการป้องกันเลนินกราดกับจูคอฟจูคอฟตั้งรับการบุกของเยอรมนีอย่างเข้มแข็งในช่วงเวลาเดียวกัน เยอรมนีซึ่งเสริมกำลังหนุนในการปิดล้อมนครเลนินกราด (Siege of Leningrad)* ได้เปลี่ยนแผนจากการปิดล้อมเป็นการมุ่งทำลายเมืองให้สิ้นซากทั้งเปลี่ยนผู้บัญชาการรบจากจอมพลเกออร์ก ฟอนคึชเลอร์ (Georg von Küchler) เป็นจอมพล ฟริทซ์ เอริช ฟอน มันชไตน์ (Fritz Erich von Manstein)* สตาลินจึงสั่งให้จูคอฟมาช่วยป้องกันเลนินกราดและเขากำหนดแผนปฏิบัติการสปาร์ก (Operation Spark) ด้วยการประสานการรุกใหญ่ระหว่างกองกำลังป้องกันเลนินกราดกับกองทัพจากแนวหน้าด้านวอลฮอฟ (Volkhov) เพื่อตอบโต้การโหมบุกโจมตีของกองทัพเยอรมันทางตอนใต้ของทะเลสาบลาโดกา (Ladoga) ซึ่งห่างจากเลนินกราด ๑๘ กิโลเมตร การปิดล้อมเลนินกราดและการบุกของเยอรมนีจึงล้มเหลวและต่อมาในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๓ เยอรมนีก็ถอนกำลังจากการปิดล้อม

 ในช่วงที่เยอรมนีปิดล้อมเลนินกราด ฮิตเลอร์สั่งการให้กองกำลังยานเกราะ (Panzer Army) รุกเข้าสู่กรุงมอสโกและนำไปสู่ยุทธการที่กรุงมอสโก สตาลินเรียกจูคอฟจากเลนินกราดให้มาทำหน้าที่ปกป้องกรุงมอสโกและจัดสรรกำลังให้โดยไม่จำกัด ในระยะแรกกองทัพเยอรมันมีชัยชนะและรุกคืบหน้าเข้ามาจนห่างจากกรุงมอสโกเพียง ๒๔ กิโลเมตร กองทัพโซเวียตพยายามต้านการบุกอย่างเข้มแข็งจนเยอรมนีต้องปรับแนวรุกเป็นแนวตั้งรับ อย่างไรก็ตาม เมื่อฤดูหนาวมาถึงและอุณหภูมิลดต่ำกว่า -๓๐ องศาเซลเซียส ทหารเยอรมันซึ่งไม่ได้เตรียมอุปกรณ์สำหรับการรบในฤดูหนาวต้องเผชิญกับความหนาวอันทารุณ ยานเกราะและยานพาหนะทั่วไปเคลื่อนตัวไม่ได้เพราะติดหล่มหิมะและน้ำมันเครื่องจับตัวเป็นน้ำแข็ง จูคอฟซึ่งทราบแน่ชัดว่าญี่ปุ่นไม่มีแผนจะบุกสหภาพโซเวียตทางด้านตะวันออกจึงสั่งให้กองพลน้อยพิเศษที่ ๕๗ ซึ่งตรึงไว้ที่ไซบีเรียเคลื่อนกำลังมาหนุนช่วยการป้องกันกรุงมอสโกจูคอฟสั่งโหมรุกหนักจนขับไล่กองทหารเยอรมันที่อ่อนล้าให้ถอยร่นออกจากแนวรบใกล้กรุงมอสโกและบริเวณรายรอบไปได้เกือบหมด ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ กองทัพเยอรมันก็ล่าถอยต่อมาในเดือนสิงหาคม สตาลินแต่งตั้งจูคอฟเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองกำลังรบโซเวียต ทั้งเป็นหัวหน้าคณะเสนาธิการทหารที่ปรึกษาของสตาลิน

 ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๒ เยอรมนีเปิดการรุกครั้งใหญ่อีกครั้งด้วยการมุ่งยึดครองเมืองสตาลินกราดซึ่งเป็นเมืองท่าและศูนย์อุตสาหกรรมบนฝั่งแม่น้ำวอลกา และนำไปสู่ยุทธการที่สตาลินกราด สตาลินแต่งตั้งให้นายพลวาซิลี ชุยคอฟ (Vasily Chuikov) เป็นผู้บัญชาการกองทัพที่ ๖๒ และ ๖๔ เพื่อป้องกันสตาลินกราด และให้นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตยูเครนประสานงานกับโปลิตบูโรและคณะกรรมาธิการป้องกันสตาลินกราดเกี่ยวกับการรบและสถานการณ์สงคราม เมื่อเยอรมนีเข้าสู่ใจกลางเมืองได้และพุ่งเป้าไปยังเขตอุตสาหกรรมในเมืองซึ่งมีโรงงานผลิตเหล็กกล้าและรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เยอรมนีไม่สามารถยึดครองได้เพราะทั้งทหารและพลเรือนโซเวียตยืนหยัดต่อต้านอย่างเหนียวแน่น สตาลินให้จูคอฟเคลื่อนกำลังจากแนวรบแม่น้ำดอนมาช่วยเหลือ เขาเสนอแผนปฏิบัติการยูเรนัส (Operation Uranus)* โดยให้กองกำลังโซเวียตที่อยู่ในสตาลินกราดเคลื่อนกำลังออกจากเมืองบุกโจมตีพร้อม ๆ กับกองกำลังโซเวียตทั้งทางเหนือและทางใต้โดยจะบุกบีบเข้าหากองทัพเยอรมันเป็นรูปก้ามปูปฏิบัติการยูเรนัสประสบผลสำเร็จและในต้น ค.ศ. ๑๙๔๓ เยอรมนีก็ยอมแพ้ในวันที่ ๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ จูคอฟจึงได้รับแต่งตั้งเป็นจอมพลแห่งสหภาพโซเวียต และนับเป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคสนามคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นจอมพลในระหว่างสงคราม

 หลังความพ่ายแพ้ในยุทธการที่สตาลินกราดฮิตเลอร์ซึ่งต้องการให้ฝ่ายพันธมิตรและกองทัพแดงรู้ว่าเยอรมนียังคงมีกำลังเข้มแข็งอยู่จึงสั่งระดมพลและยุทโธปกรณ์อย่างมโหฬารเพื่อปิดล้อมและบดขยี้กองทัพโซเวียตที่แนวรบใกล้เมืองคุรสค์ (Kursk) ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟที่ห่างจากกรุงมอสโกไปทางตอนใต้ ๘๐๐ กิโลเมตร เยอรมนีใช้แผนปฏิบัติการซิตาเดล (Operation Citadel) ในการโจมตีและนำไปสู่ยุทธการที่เมืองคุรสค์ (Battle of Kursk ๕ กรกฎาคม-๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๓)* จูคอฟรับผิดชอบในการควบคุมกำลังรบทั้งหมด เขาจัดตั้งแนวรบโวโรเนจขึ้นโดยให้ พลเอก นีโคไล วาตูติน (Nikolai Vatutin)* ใช้กองทัพรถถังการ์ดที่ ๕ (5ᵗʰ Guard Tank Army) และกองทัพรถถังที่ ๑ รวมเกือบ ๑,๒๐๐ คัน สกัดการบุกของเยอรมนี เมื่อเยอรมนีตีฝ่าแนวรบโซเวียตเข้ามา กองทัพรถถังของทั้ง ๒ ฝ่ายปะทะกันอย่างดุเดือดและเป็นการรบด้วยรถถังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต่อมากองทัพเยอรมันเริ่มล่าถอย ฝ่ายโซเวียตก็เคลื่อนกำลังไล่ติดตามอย่างไม่ลดละจนกลายเป็นฝ่ายรุกตลอดแนวรบ ความพ่ายแพ้ที่คุรสค์เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการรบใหญ่ครั้งสุดท้ายของเยอรมนีในแนวรบด้านตะวันออก และทำลายความฝันของฮิตเลอร์ในการพิชิตสหภาพโซเวียต ในครึ่งหลังของ ค.ศ. ๑๙๔๓ ถึงต้น ค.ศ. ๑๙๔๕ จูคอฟบัญชาการรบปลดปล่อยดินแดนโซเวียตที่ถูกเยอรมนียึดครองในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๔ ถึงฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน จูคอฟรุกไล่กองทัพเยอรมันในแนวรบเบโลรัสเซียด้วยแผนรบที่ใช้ชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการบากราตีออน (Operation Bagration) จนกองทัพกลุ่มกลาง (Arm Group Centre) ของเยอรมนีที่เข้มแข็งที่สุดแตกพ่าย สหภาพโซเวียตสามารถยึดพื้นที่ด้านตะวันตกกลับคืนได้ทั้งปลดปล่อยโปแลนด์และเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* ได้สำเร็จ

 ในต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ สตาลินสั่งการให้จูคอฟเคลื่อนกำลังบุกกรุงเบอร์ลินและยึดครองให้ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสูญเสียใด ๆ ทั้งสิ้น ในการบุกครั้งนี้เขาต้องประสานงานกับจอมพล อีวาน โคเนฟ (Ivan Konev)* ผู้บัญชาการแนวรบยูเครนที่จะเคลื่อนกำลังบุกผ่านเมืองเดรสเดิน (Dresden) และเมืองไลพ์ซิก (Leipzig) เข้าสู่กรุงเบอร์ลินทางตอนใต้กองกำลังโซเวียตที่จะเข้ายึดกรุงเบอร์ลินทั้งของจอมพล จูคอฟและจอมพล โคเนฟมีประมาณ ๒.๕ ล้านคน และรถถัง ๖,๒๕๐ คัน ในวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ จูคอฟสั่งการบุกกรุงเบอร์ลิน และนำไปสู่ยุทธการที่เบอร์ลิน (Battle of Berlin ๑๖ เมษายน–๒ พฤษภาคมค.ศ. ๑๙๔๕)* ต่อมาในวันที่๒พฤษภาคมกรุงเบอร์ลินก็ถูกยึดครอง และอีก ๗ วันต่อมาจูคอฟเป็นผู้แทนสหภาพโซเวียตในการลงนามการยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไขของเยอรมนีที่กรุงเบอร์ลินสตาลินยังแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้แทนสหภาพโซเวียตในคณะกรรมาธิการพันธมิตรควบคุมเยอรมนี (Allied Control Commission for Germany) และเป็นผู้บัญชาการกองทัพสูงสุดในเขตยึดครองเยอรมนีของสหภาพโซเวียตจนถึงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๔๖

 ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๕ จูคอฟเดินทางกลับสหภาพโซเวียตเพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองชัยชนะการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่กรุงมอสโกสองวันหลังจากเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ เขาได้รับอิสริยาภรณ์ดาวทองเป็นวีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียตเป็นครั้งที่ ๓ รวมทั้งอิสริยาภรณ์ตระกูลต่าง ๆ จากนานาประเทศอีกมาก ต่อมาในวันที่ ๒๔ มิถุนายน จูคอฟขี่ม้าสีขาวนำขบวนพาเหรดแห่งชัยชนะเข้าสู่จัตุรัสแดงและสวนสนามกับจอมพล โรคอสซอฟสกีซึ่งขี่ม้าสีดำนำขบวนกองทหารม้ามาต้อนรับเขาไปสู่ปะรำพิธีเพื่อเข้าประจำที่นั่งชมขบวนเฉลิมฉลองร่วมกับสตาลินและสมาชิกพรรคคนสำคัญ จูคอฟเล่าว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา หลังการเฉลิมฉลอง จูคอฟเดินทางกลับไปประจำการที่กรุงเบอร์ลินในเขตยึดครองของโซเวียต ต่อมาระหว่างวันที่ ๑๖ กรกฎาคมถึง ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เขาเข้าร่วมในการประชุมที่พอทสดัม (Potsdam Conference)* และสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายพันธมิตรโดยเฉพาะนายพลดไวต์ เดวิด ไอเซนฮาวร์ (Dwight David Eisenhower) แห่งสหรัฐอเมริกาและนายพลเบอร์นาร์ด ลอว์ มอนต์โกเมอรี (Bernard Law Montgomery)* แห่งอังกฤษ

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๖ จูคอฟซึ่งหมดวาระประจำการที่กรุงเบอร์ลินเดินทางกลับสหภาพโซเวียตและได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการเขตทหารที่เมืองท่าโอเดสซา (Odessa) ที่ห่างไกลจากกรุงมอสโกและไม่มีความสำคัญทางการทหารทั้งมีกำลังพลจำนวนน้อยการถูกส่งไปประจำการในเขตทหารที่สันโดษและห่างไกลดังกล่าวเป็นเพราะความชื่นชอบของประชาชนและทหารที่มีต่อจูคอฟในฐานะวีรบุรุษสงครามและจอมพลที่เก่งที่สุดของกองทัพโซเวียตและอื่น ๆ ทำให้สตาลินหวาดระแวงว่าจูคอฟซึ่งเป็นเสมือนคู่แข่งทางการเมืองอาจโค่นอำนาจเขา นอกจากนี้ลัฟเรนตี เบเรีย (Lavrenty Beria)* หัวหน้าตำรวจลับหรือเชกา (CHEKA)* และนายพลแห่งสหภาพโซเวียตก็กล่าวหาจูคอฟว่าเขาทุจริตด้วยการยักยอกทรัพย์สินและงานศิลปะที่ยึดได้จากเยอรมนีเป็นสมบัติส่วนตัวและในระหว่างสงคราม จูคอฟประเมินสถานการณ์รบและกองกำลังเยอรมันผิดพลาดหลายครั้งซึ่งทำให้สหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในสงครามในช่วงแรก ๆ ทหารคนสนิทของจูคอฟถูกจับกุมและทรมานให้สารภาพความผิดทั้งให้ซัดทอดโทษแก่จูคอฟ จูคอฟถูกกล่าวหาว่าเป็นเหมือนพวก “โบนาปาร์ต” (Bonapartist) ที่บ้าอำนาจและหลงตนเอง ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ จูคอฟถูกเรียกตัวมาไต่สวน แต่ในต้นเดือน มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๘ เขาล้มป่วยด้วยโรคหัวใจและถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล การล้มป่วยดังกล่าวมีส่วนทำให้สตาลินซึ่งต้องการกำจัดเขาเปลี่ยนใจและสั่งให้ล้มเลิกการไต่สวนคดี หลังจูคอฟฟื้นตัวสตาลินแต่งตั้งเขาไปบัญชาการกองกำลังเขตทหารที่ยูรัล เมืองสเวียร์ดลอฟสค์ (Sverdlovsk) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตอนในของประเทศซึ่งจะทำให้จูคอฟมีโอกาสหลบหนีออกนอกประเทศยากกว่าการประจำการอยู่ที่เมืองโอเดสซา อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๓ สตาลินมีคำสั่งให้จูคอฟเดินทางกลับมากรุงมอสโกและเป็นที่เข้าใจกันว่าสตาลินอาจให้จูคอฟไปรับผิดชอบเกี่ยวกับสงครามเกาหลี แต่ในช่วงที่จูคอฟอยู่ที่กรุงมอสโกเกือบเดือนก็ไม่มีคำสั่งใด ๆ ออกมา จนสตาลินถึงแก่อสัญกรรมไปก่อนเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓

 หลังอสัญกรรมของสตาลิน เบเรียซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีหาทางแย่งชิงอำนาจความเป็นผู้นำพรรคจากเกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช มาเลนคอฟ (Georgi Maksimilianovich Malenkov)* นายกรัฐมนตรี เขาสร้างความนิยมและวางฐานอำนาจให้มั่นคงมากขึ้นด้วยการสั่งปิดค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* และแต่งตั้งคนของเขาดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานความมั่นคง การวางแผนยึดอำนาจของเบเรียทำให้การต่อต้านเบเรียเริ่มก่อตัวขึ้น และมีข่าวลือว่าเบเรียมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับแผนฆาตกรรมของคณะแพทย์ (Doctor’s Plot)* แม้เบเรียจะปฏิเสธแต่ข่าวลือเรื่องการเตรียมก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจทำให้ครุชชอฟ เลขาธิการพรรคร่วมมือกับมาเลนคอฟและเวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhalovich Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกำจัดเบเรียโดยจูคอฟซึ่งเกลียดชังเบเรียให้การสนับสนุนด้านกำลังทหาร จูคอฟนำกองทัพเข้าล้อมพระราชวังเครมลินซึ่งเป็นสถานที่ประชุมพรรคและเข้าจับกุมเบเรียกับคนสนิททั้งหมด หลังเบเรียหมดอำนาจจูคอฟซึ่งสนิทสนมกับครุชชอฟมาก่อนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ สนับสนุนครุชชอฟโค่นอำนาจมาเลนคอฟ ครุชชอฟจึงตอบแทนจูคอฟโดยแต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๕ สืบแทนนีโคไล บุลกานิน (Nikolai Bulganin)* ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปีถัดมาจูคอฟซึ่งอายุ ๖๐ ปีก็ได้รับอิสริยาภรณ์ดาวทองยกย่องเป็นวีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียตเป็นครั้งที่ ๔

 ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เมื่อครุชชอฟเริ่มดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* เพื่อกำจัดกลุ่มสตาลินและเพื่อปฏิรูปการเมืองทั้งในสหภาพโซเวียตและในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นรัฐบริวารโซเวียต นโยบายดังกล่าวทำให้โปแลนด์และฮังการีเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองจากสหภาพโซเวียตและก่อการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ในโปแลนด์การเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองทวีความเข้มข้นมากขึ้นจนพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์เกือบจะควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่ได้ จูคอฟได้เคลื่อนกำลังทหารมุ่งเข้าสู่กรุงวอร์ซอเพื่อกดดันให้พรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์เร่งแก้ไขวิกฤตการณ์ มิฉะนั้นกองทัพโซเวียตจะเข้าแทรกแซง รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์จึงเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคโดยให้วลาดิสลัฟ โกมุลกา (Vladyslav Gomulka)* คอมมิวนิสต์ชาตินิยมมาเป็นผู้นำเพื่อแก้ไขสถานการณ์ โกมุลกายืนยันการสนับสนุนนโยบายของสหภาพโซเวียตและการเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization)* จูคอฟได้รับการชื่นชมและยกย่องมากในการทำให้วิกฤตการณ์ในโปแลนด์ยุติลงด้วยดี

 อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ จูคอฟเสนอให้ส่งกองทหารโซเวียตไปสนับสนุนรัฐบาลฮังการีที่มีมาตยาช ราโคชี (Mátyás Rákosi)* เป็นผู้นำ แต่สถานการณ์ในฮังการีบานปลายและมีการเปลี่ยนผู้นำใหม่เป็นอิมเร นอจ (Imre Nagy)* คอมมิวนิสต์เสรีนิยม นอจประกาศภาวะฉุกเฉินและสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนทั้งเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตถอนกำลังออกจากบริเวณพรมแดนฮังการี จูคอฟได้สั่งเคลื่อนกำลังบุกฮังการีและเข้าประจำการบริเวณพื้นที่สำคัญ ๆ รวมทั้งพื้นที่รอบนอกกรุงบูดาเปสต์ (Budapest) และสนามบิน ในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ครุชชอฟและจูคอฟเดินทางไปยูโกสลาเวีย (Yugoslavia)* เพื่อหารือกับยอซีป บรอซ หรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ในการบุกปราบปรามฮังการี เช้าวันที่ ๔ พฤศจิกายนกองทัพรถถังโซเวียต ๒,๕๐๐ คันก็บุกล้อมปราบการต่อต้านของฮังการีและยานอช คาดาร์ (Janos Kadar)* ผู้นำคอมมิวนิสต์สายกลางที่สหภาพโซเวียตสนับสนุนได้เป็นผู้นำคนใหม่ของฮังการี ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์การลุกฮือของชาวฮังการีนั้น ประเทศตะวันตกไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจะช่วยเหลือฮังการีเท่าใดนักเพราะมุ่งความสนใจไปที่ปัญหาตะวันออกกลางที่สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis)* ในวิกฤตการณ์ดังกล่าวจูคอฟเรียกร้องให้รัฐบาลโซเวียตสนับสนุนอียิปต์ในการยึดครองคลองสุเอซด้วย ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ จูคอฟเป็นผู้แทนของสหภาพโซเวียตเดินทางไปเยือนยูโกสลาเวียและแอลเบเนียเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับทั้ง ๒ ประเทศ ในปีเดียวกันจูคอฟได้รับเลือกเป็นสมาชิกสำรองของโปลิตบูโรและนับเป็นนายทหารคนแรกที่ได้เข้าไปอยู่ในวงในแห่งอำนาจกลุ่มผู้นำพรรค

 ในช่วงที่จูคอฟเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น เขาดำเนินการปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพทั้งเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศจูคอฟยังใช้เงื่อนไขของนโยบายปฏิรูปประเทศและการล้มล้างอิทธิพลสตาลินของครุชชอฟกอบกู้เกียรติและคืนสถานภาพเดิมทางสังคมให้แก่นายทหารหลายนายที่ตกเป็นเหยื่อของการกวาดล้างครั้งใหญ่ในสมัยสตาลิน เช่น นายพลมีฮาอิล นีโคลาเยวิช ตูฮาเชฟสกี (Mikhail Nikolayevich Tukhachevsky)* และนายพลอะเล็กซานเดอร์ เยโกรอฟ (Alexander Yegorov) นอกจากนี้เขายังออกกฎข้อบังคับให้หน่วยการเมืองในกองทัพรายงานข่าวต่าง ๆ ให้เขาทราบก่อนที่จะเสนอไปยังองค์การพรรค แนวทางการปฏิรูปกองทัพของจูคอฟทำให้ในเวลาต่อมากลุ่มที่ต่อต้านเขาใช้เป็นข้ออ้างโค่นล้มเขาโดยกล่าวหาว่าเขาเป็นนักปฏิรูปที่หลงอำนาจและเป็นพวกโบนาปาร์ต

 ใน ค.ศ. ๑๙๕๗ มีความพยายามโค่นอำนาจครุชชอฟด้วยข้อหาว่าเขาล้มเหลวในการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ฉบับที่ ๖ (ค.ศ. ๑๙๕๕–๑๙๕๙) และดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดในกรณีโปแลนด์และฮังการีฝ่ายต่อต้านเขาใช้มติของที่ประชุมคณะกรรมาธิการกลางปลดครุชชอฟออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคแต่ครุชชอฟปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามโดยอ้างข้อบังคับของพรรคซึ่งกำหนดว่าการเปลี่ยนแปลงเลขาธิการพรรคต้องได้ความเห็นชอบจากที่ประชุมเต็มของคณะกรรมการกลางพรรค ในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายนฝ่ายต่อต้านพยายามขัดขวางไม่ให้สมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนครุชชอฟซึ่งกำลังร่วมเฉลิมวาระครบรอบ ๒๕๐ ปีของนครเลนินกราดเดินทางมาประชุมที่กรุงมอสโกจูคอฟซึ่งสนับสนุนครุชชอฟได้จัดเครื่องบินทหารให้สมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคกว่า ๑๐๐ คน เดินทางมาร่วมประชุมได้และทำให้ครุชชอฟซึ่งกุมเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมสามารถรักษาตำแหน่งไว้ได้ หลังการประชุมใหญ่ครั้งนี้ ครุชชอฟสนับสนุนเลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev)* และจูคอฟให้เลื่อนฐานะจากสมาชิกสำรองเป็นสมาชิกถาวรของโปลิตบูโร และแต่งตั้งอันเดรย์ โกรมีโค (Andrei Gromyko)* นักการทูตที่เขาไว้วางใจเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนโมโลตอฟซึ่งต่อต้านเขา

 อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาครุชชอฟก็ขัดแย้งกับจูคอฟหลายเรื่องโดยเฉพาะการที่จูคอฟต้องการลดอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ในการควบคุมกองทัพและการให้ความสำคัญต่อการฝึกอบรมทางทหารมากกว่าการอบรมลัทธิการเมือง ความนิยมของทหารและประชาชนต่อจูคอฟยังทำให้ครุชชอฟหวาดระแวงว่าเขากำลังพยายามสร้างอำนาจเพื่อก่อรัฐประหาร ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ จูคอฟเดินทางไปเยือนแอลเบเนียและยูโกสลาเวีย ครุชชอฟจึงเห็นเป็นโอกาสปลดเขาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและแต่งตั้งจอมพล โรดิน มาลีนอฟสกี (Rodin Malinovsky)* ซึ่งสนิทกับเขาให้ดำรงตำแหน่งแทน หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวจูคอฟยังถูกปลดออกจากโปลิตบูโรและคณะกรรมการกลางพรรคด้วยข้อกล่าวหาละเมิดหลักการของลัทธิมากซ์-เลนินและพยายามทำตนให้โดดเด่นกว่าใคร ๆ ซึ่งเป็นการพยายามนำแนวความคิดลัทธิการบูชาบุคคล (Cult of Personality)* ที่ชั่วร้ายกลับมามีบทบาทอีกจูคอฟซึ่งไม่พอใจอย่างมากทั้งเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งกลับไม่ได้ต่อต้านแต่ประการใด เขาปลีกตัวจากสังคมและการเมืองทั้งเก็บตัวเงียบ หลังเหตุการณ์ดังกล่าวจูคอฟปรากฏตัวต่อสาธารณชนอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ ซึ่งมีการเฉลิมฉลอง ๒๐ ปี ของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือที่สหภาพโซเวียตเรียกว่า มหายุทธการกอบกู้ปิตุภูมิ (Great Patriotic War)* เขาเป็นแขกเกียรติยศที่นั่งเคียงข้างเบรจเนฟผู้นำสหภาพโซเวียตชมการสวนสนามและขบวนพาเหรดแห่งชัยชนะที่จัตุรัสแดง ประชาชนซึ่งเห็นจูคอฟต่างปรบมือและตะโกนโห่ร้องต้อนรับเขาอย่างกึกก้อง

 ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ จูคอฟเริ่มเขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับสงครามและการรบแต่งานเขียนดำเนินไปอย่างเชื่องช้าเพราะจูคอฟเป็นคนละเอียดและต้องการใช้หลักฐานข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน รวมทั้งการติดต่อปรึกษาหารือกับเพื่อนนายทหารและนายทหารที่อยู่ใต้บังคับบัญชาในเรื่องที่เกี่ยวข้องและอื่น ๆ เขาคร่ำเครียดกับงานเขียนซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและทำให้โรคหัวใจกำเริบ ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ จูคอฟมีอาการหัวใจล้มเหลวและต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเกือบ ๖ เดือนทั้งร่างกายซีกซ้ายเป็นอัมพาต หลังจากออกจากโรงพยาบาลเขายังคงต้องไปรักษาตัวที่คลินิกเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเดียวกันคู่ชีวิตของจูคอฟก็ป่วยเป็นมะเร็งและแพทย์วินิจฉัยว่าเธอจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๕ ปี บันทึกความทรงจำของเขาเขียนเสร็จในต้น ค.ศ. ๑๙๖๙ และพิมพ์เผยแพร่ในเดือนเมษายนปีเดียวกันซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีในเวลาเพียงข้ามคืน หลังการเผยแพร่ได้ไม่ถึงปี จูคอฟได้รับจดหมายจากผู้อ่านมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ฉบับ แสดงความคิดเห็นติชมและเสนอแนะต่าง ๆ เขาจึงเริ่มปรับปรุงแก้ไขต้นฉบับให้สมบูรณ์ขึ้นเพื่อจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ อย่างไรก็ตามการเสียชีวิตของภริยาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๓ และสุขภาพของเขาที่เสื่อมถอยลงทำให้เขาทำงานได้ไม่มากนักและแพทย์สั่งให้เขาทำงานได้เพียงวันละ ๑ ชั่วโมงเท่านั้น ในกลาง ค.ศ. ๑๙๗๔ จูคอฟมีอาการหัวใจล้มเหลวอีกครั้งหนึ่งและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเครมลินซึ่งเขาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๔ รวมอายุได้ ๗๘ ปี

 จูคอฟมีคำสั่งเสียให้ฝังศพเขาที่บ้านเกิด แต่รัฐบาลโซเวียตไม่เห็นชอบ และให้จัดรัฐพิธีเผาศพเขาอย่างยิ่งใหญ่และสมเกียรติ เถ้าอัฐิของเขาถูกนำไปบรรจุไว้ที่สุสานกำแพงเครมลิน (Kremlin Wall Necropolis) เคียงข้างนายพลและจอมพลคนอื่น ๆ แห่งสหภาพโซเวียต หลังอสัญกรรมของจูคอฟได้ ๒–๓ เดือน บันทึกความทรงจำฉบับแก้ไขปรับปรุงของจูคอฟก็ได้รับการจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ และเป็นหนังสือขายดีเหมือนการพิมพ์ครั้งแรก ต่อมามีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ของยุโรป และฉบับภาษาอังกฤษให้ชื่อว่า Reminiscences and Reflections บันทึกความทรงจำของจูคอฟและการที่รัฐบาลโซเวียตยกย่องเชิดชูเกียรติเขาอย่างมากได้ทำให้ลัทธิการบูชาจูคอฟ (Zhukov Cult) ก่อตัวขึ้นและทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นนายพลโซเวียตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๘๐ รัฐบาลโซเวียตได้นำชื่อเขาไปตั้งชื่อบ้านเกิดของเขาว่าหมู่บ้านจูคอฟและตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยที่โซเวียตค้นพบใหม่ว่าดาวเคราะห์น้อยจูคอฟด้วย

 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายใน ค.ศ. ๑๙๙๑ บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin)* ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ซึ่งต้องการสร้างวีรบุรุษของประเทศใหม่ที่หยามเกียรติระบอบคอมมิวนิสต์ได้เลือกจูคอฟให้เป็นสัญลักษณ์ของชาวรัสเซียใหม่ จูคอฟเป็นคนรักชาติและซื่อตรงในงานอาชีพมากกว่าการจงรักภักดีต่อสตาลินและระบอบคอมมิวนิสต์ เขาเป็นวีรบุรุษในมหายุทธการกอบกู้ปิตุภูมิและเป็นวีรชนรัสเซียโดยแท้ เพราะจูคอฟรักและเทิดทูนทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นรัสเซีย ความเป็นรัสเซียของเขาคือเอกลักษณ์ของรัสเซียใหม่ที่แทนที่ระบอบสังคมนิยมและชาตินิยม ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๔ เยลต์ซินออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจูคอฟ ๒ ฉบับ ฉบับแรกให้สร้างอนุสรณ์สถานจูคอฟขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระ ๕๐ ปีแห่งชัยชนะในมหายุทธการกอบกู้ปิตุภูมิในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ ฉบับที่ ๒ ให้สร้างเครื่องอิสริยาภรณ์สายทหาร ๒ ตระกูล เหรียญจูคอฟ (Zhukov Medal) และอิสริยาภรณ์จูคอฟ (Order of Zhukov) อนุสรณ์สถานรูปหล่อจูคอฟนั่งบนหลังม้าสร้างเสร็จทันการเฉลิมฉลองแห่งชัยชนะใน ค.ศ. ๑๙๙๕ และตั้งอยู่ที่หน้าประตูทางเข้าสู่จัตุรัสแดงซึ่งเป็นจุดโดดเด่นดึงดูดสายตาชาวรัสเซียและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี เกิดของจูคอฟ รัฐบาลรัสเซียได้ขยายเขตพื้นที่หมู่บ้านจูคอฟและยกสถานะขึ้นเป็นเมืองทั้งให้สร้างพิพิธภัณฑ์จูคอฟเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา นอกจากนี้ ยังมีการประกอบพิธีทางศาสนาให้เขา ณ สุสานกำแพงเครมลินนับเป็นครั้งแรกที่มีการประกอบพิธีทางศาสนา ณ ที่นั้นอีก ๓ ปีต่อมารัฐบาลรัสเซียได้จัดพิมพ์รายงานที่ทางการโซเวียตเคยกล่าวหาเขาใน ค.ศ. ๑๙๕๗ เผยแพร่และมีมติให้จูคอฟพ้นมลทินจากข้อกล่าวหาต่าง ๆในสมัยครุชชอฟทั้งหมด.



คำตั้ง
Zhukov, Georgi Konstantinovich
คำเทียบ
จอมพลเกออร์กี คอนสตันติโนวิช จูคอฟ
คำสำคัญ
- กติกาสัญญานาซี-โซเวียต
- กองทัพแดง
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การประชุมที่พอทสดัม
- การปิดล้อมนครเลนินกราด
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- โกมุลกา, วลาดิสลัฟ
- โกรมีโค, อันเดรย์
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- ความน่าสะพรึงกลัวครั้งใหญ่
- คอลชาค, พลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์
- คอลชาค, อะเล็กซานเดอร์
- คาดาร์, ยานอช
- ค่ายกักกัน
- ค่ายกักกันแรงงาน
- คีรอฟ, เซียร์เกย์ มีโรโนวิช
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- โคเนฟ, จอมพล อีวาน
- จดานอฟ, อันเดรย์
- เชกา
- ตรอตสกี, เลออน
- ตูฮาเชฟสกี, มีฮาอิล นีโคลาเยวิช
- นโปเลียนที่ ๑
- นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป
- นอจ, อิมเร
- นาซี
- บอลเชวิค
- บุลกานิน, นีโคไล
- เบรจเนฟ, เลโอนิด
- เบเรีย, ลัฟเรนตี
- ปฏิบัติการบากราตีออน
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- ปฏิบัติการยูเรนัส
- ปัญหาตะวันออก
- แผนฆาตกรรมของคณะแพทย์
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคบอลเชวิค
- มหายุทธการกอบกู้ปิตุภูมิ
- มอนต์โกเมอรี, เบอร์นาร์ด ลอว์
- มากซ์, คาร์ล
- มาเลนคอฟ, เกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช
- โมโลตอฟ, เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช
- ยุทธการที่กรุงมอสโก
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ยุทธการที่เบอร์ลิน
- ยุทธการที่เมืองคุรสค์
- ยุทธการที่เมืองซาริตซิน
- ยุทธการที่สตาลินกราด
- ยูโกสลาเวีย
- ยูเครน
- เยจอฟ, นิโคไล
- เยลต์ซิน, บอริส
- ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม
- รันเกล, ปิออตร์ นีโคลาเยวิช
- ราโคชี, มาตยาช
- โรคอสซอฟสกี, คอนสตันติน
- ลัทธิการบูชาบุคคล
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิมากซ์-เลนิน
- เลนิน, วลาดีมีร์
- วาตูติน, พลเอก นีโคไล
- วิกฤตการณ์คลองสุเอซ
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามนโปเลียน
- สงครามรัสเซีย-ฟินแลนด์
- สงครามฤดูหนาว
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สตาลิน, โจเซฟ
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- สมัยเยจอฟ
- สหพันธรัฐรัสเซีย
- สหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซีย
- สหภาพโซเวียต
- สัญญานาซี-โซเวียต
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1896–1974
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๙–๒๕๑๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-